สังฆทาน เปิดความหมายและวิธีถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ
สังฆทาน คืออะไร มาดูที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำว่า สังฆทาน พร้อมคำถวายสังฆทาน วิธีการถวายสังฆทานให้ได้บุญสูงสุด เป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้ให้และพระสงฆ์ผู้รับ
เพราะการ “ทำทาน” ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ การถวาย “สังฆทาน” ก็เช่นกัน ชาวพุทธจึงมักนับการทำบุญสังฆทานว่าเป็นการทำบุญใหญ่ที่ได้อานิสงส์มาก ทว่าสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดก็คือ การทำสังฆทานก็เพื่อส่งผลบุญไปถึงเจ้ากรรมนายเวร หรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วได้ ซึ่งความหมายที่แท้จริงของการทำสังฆทาน คืออะไร เรามาลองทำความเข้าใจกัน พร้อมแนะนำวิธีถวายสังฆทานที่ถูกต้อง เพื่อความเป็นสิริมงคล สบายใจต่อผู้ให้ อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้รับและพระพุทธศาสนามากที่สุด
ความหมายของสังฆทาน แปลว่าอะไร
สังฆทาน ประกอบด้วยคำ 2 คำ ได้แก่ “สังฆะ” และ “ทาน”
โดย สังฆะ หมายถึง ภิกษุตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป และ ทาน หมายถึง การให้, แบ่งปัน, แจกจ่ายวัตถุ สิ่งของ ปัจจัยสี่ ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เมื่อรวมความหมายแล้ว การถวายสังฆทาน แปลว่า การถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง
กล่าวคือ การถวายสิ่งนั้นเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อจะจัดสรรแบ่งปันแก่หมู่พระสงฆ์ที่ต้องการ หรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง โดย “ไม่เลือก” จำเพาะเจาะจงว่าจะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา ผู้เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์ สามเณร โดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน
สังฆทานมีที่มาอย่างไร
สาเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดการทำบุญด้วยการถวายสังฆทานนั้น มาจาก ทักขิณาวิภังคสูตร ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานโดยย่อว่า
“ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ครั้งนั้นทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า (น้า) ได้เกิดศรัทธาแรงกล้า ทรงทอจีวรด้วยพระองค์เองเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว และทรงแนะนำให้พระนางถวายแก่สงฆ์ โดยอรรถาธิบายว่า การถวายแก่สงฆ์ย่อมให้อานิสงส์มากกว่าถวายแก่พระองค์เป็นการเฉพาะ (การถวายหรือให้ทานแก่พระพุทธเจ้า พระภิกษุ หรือบุคคลใดโดยเฉพาะ ทรงจัดเป็นปาฏิปุคลิกทาน) ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล
ตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธจึงถือว่าการทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเป็นมหาทานที่มีอานิสงส์มาก ได้บุญมาก เพราะการที่จัดถวายทานแก่ส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากกว่า เป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันจะพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวง โดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง
อานิสงส์ของการถวายสังฆทาน
การถวายสังฆทาน ถือเป็นการทำบุญใหญ่ หากทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์จะเป็นบุญมหาศาล ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ซึ่งหากถวายสังฆทานกับผู้ล่วงลับ ก็จะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเองได้เช่นกัน และนอกจากจะส่งผลบุญแก่ผู้ถวายแล้ว ยังเป็นการช่วยบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์อีกด้วย
การถวายสังฆทาน 1 ครั้งในชีวิต และถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์มี ศรัทธาแท้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า
“ผลของสังฆทานนี้จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวาย เกิดไปทุกชาติขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไม่มี ในแดนใดที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่ไปเกิดที่นั่น”
การถวายสังฆทานปกติเป็นทานที่มีบุญมหาศาลอยู่แล้ว แต่ถ้าทำถูกจะได้อานิสงส์ทวีคูณประมาณมิได้ เนื่องจาก
- เครื่องสังฆทานที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ (ทรัพย์ที่จะทำบริสุทธิ์)
- ผู้ถวายมีจิตใจ แน่วแน่ บริสุทธิ์ และเบิกบาน ในอันที่จะนึกถึงประโยชน์ในเครื่องสังฆทานที่จำเป็นต่อพระสงฆ์ ทั้งก่อนให้ เวลาให้ และหลังให้
- พระสงฆ์ (ผู้รับ) เป็นผู้ปฎิบัติชอบ (ยิ่งหากผู้รับถวายสังฆทานเป็นพระอริยเจ้า ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าระดับ พระอรหันต์ ยิ่งสมบูรณ์แบบ มีอานิสงส์มหาศาล และยิ่งถ้าพระอรหันต์นั้นออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ ยิ่งส่งเสริมผลบุญเป็นเท่าทวีคูณ)
สังฆทานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
ในปัจจุบัน คนไทยมักเรียกกันอย่างเข้าใจผิด ว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง หรือจะต้องซื้อเป็นชุดไทยธรรมสีเหลืองสำเร็จรูป ที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์เท่านั้น จึงจะเป็นชุดสังฆทานที่ถูกต้อง
แต่ความจริงแล้ว สังฆทาน คือ การถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หมู่พระสงฆ์ โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้ แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้จริง จึงมักเป็นอาหารและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับภิกษุ สามเณร เช่น สบง จีวร ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ เครื่องกระป๋อง นม อาหารแห้ง รวมไปถึงสิ่งของอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์และคณะสงฆ์ เช่น หนังสือธรรมะ อุปกรณ์สำหรับก่อสร้างหรือซ่อมแซมวัดวาอาราม เป็นต้น
สังฆทาน มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบของแห้ง จัดในถุงผ้า หรือชะลอมสานสวยงาม และอาหารคาวหวาน ก็สามารถจัดเป็นปิ่นโตสแตนเลส หรือแบบอาหารกล่องก็เข้ากับยุคสมัยได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นของประเภทอาหาร เช่น ข้าว, แกง, ของหวาน, ขนม, กะปิ, น้ำปลา, ข้าวสาร, นมกล่อง อย่าใส่ปนกันไปถวายพระในเวลาหลังเที่ยงวัน ต้องแยกมาถวายเวลา เช้า-เพล เพราะของประเภทอาหารนี้พระสงฆ์จะรับประเคนและฉันได้ช่วงเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น
คำถวายสังฆทานและวิธีถวายสังฆทาน
สำหรับวิธีถวายสังฆทาน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่จัดเตรียมชุดสังฆทานตามที่เหมาะสมและตามกำลังของตัวเอง เมื่อนำสิ่งของไปถวายที่วัด และพระสงฆ์รู้ความประสงค์ ท่านก็จะให้จุด ธูป เทียน แล้วก็ว่า นโม 3 จบ แล้วกล่าวคำถวาย สังฆทาน ดังนี้
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ
โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ
พระสงฆ์จะจบสาธุ แล้วเราก็สามารถประเคนถวายของที่เป็นสังฆทานทั้งหมดให้ท่าน จากนั้นพระจะนำสมาทานศีล รับถวายทาน สัมโมทนียกถา (แสดงธรรม) และอนุโมทนากถา (ให้พร) ตามลำดับ
ต่อมาผู้ถวายสังฆทานก็กรวดน้ำ แผ่ส่วนบุญกุศล เป็นอันเสร็จพิธีทำบุญถวายสังฆทาน และขออุทิศบุญกุศลนี้แด่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้มีพระคุณ พรหมเทพเทวดาทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย (สามารถระบุชื่อลงไปเลย หากต้องการจะอุทิศให้ใครโดยเฉพาะ เพื่อลดกรรมที่ทำกับเขา หรือจะเป็นการเชื่อมบุญกันเพื่อให้ทุกอย่างที่ทำด้วยกันนั้นสำเร็จ)
ข้อควรระวัง
ผู้ที่ประสงค์จะทำสังฆทานจะเตรียมสิ่งของที่จะถวาย เมื่อพร้อมแล้วนำไปยังวัด บอกท่านเจ้าอาวาสว่า ต้องการถวายสังฆทาน ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์รูปใดมารับสังฆทานก็ได้ หรือจะเตรียมของแล้วนำของไปยังวัด ไปพบพระสงฆ์รูปใดก็แจ้งความจำนงขอถวายสังฆทาน ท่านก็จะทำพิธีรับสังฆทาน แต่ถ้าหากกำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่ง การทำทานนั้นจะไม่ถือเป็น สังฆทาน
ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ
การทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ควรให้อย่างสัตบุรุษ คือยึดหลักธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสทาน 8 ได้แก่
- ให้ของสะอาด : เลือกสิ่งที่บริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต
- ให้ของประณีต : ให้ของที่ดี ตามกำลังศรัทธา อย่างรู้จักประมาณ
- ให้ถูกเวลา : เช่นถวายภัตตาหารพระก่อนเวลาเพลเท่านั้น ถ้าจะถวายหลังเวลาเที่ยงไปแล้วก็อาจจะถวายเครื่องไทยธรรม ดอกไม้ธูปเทียน น้ำปานะต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อพระวินัย เป็นต้น
- ให้ของที่สมควรแก่ผู้รับจะนำไปใช้ได้ : เช่นถ้าจะถวายสังฆทาน ก็ควรถวายของที่สมควรแก่พระ ไม่ใช่สุรา ยาเสพติด เครื่องประดับตกแต่ง บางคนคิดว่าจะถวายสังฆทานอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับก็ต้องนำของที่ผู้ล่วงลับชอบใจหรือใช้อยู่เป็นประจำมาถวายพระ นี่เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะของเหล่านั้นถวายแก่พระ ไม่ใช่การทำพิธีให้ของนั้นล่องลอยไปสู่ผู้ล่วงลับ บุญเกิดจากการให้ มิใช่อยู่ที่ตัวสิ่งของ
- ให้ด้วยวิจารณญาณ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก : ของที่จะให้เป็นทานจะมีราคาสูงหรือ ต่ำไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ควรเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การจัดหาของน้อยชิ้นที่ใช้งานได้ อาจจะดีกว่าการจัดของสารพัดอย่างลงในถังให้ดูครบครันแต่นำมาใช้ หรือแม้แต่จะจัดเก็บก็ยากลำบาก
- ถวายให้เป็นประจำสม่ำเสมอ
- เมื่อให้แล้ว ต้องทำจิตให้ผ่องใส ถวายด้วยความตั้งใจที่จะให้
- ให้แล้วเบิกบานใจ : ไม่คิดกังวลว่าผู้รับจะใช้หรือไม่ จะยินดีแค่ไหน เมื่อให้ไปแล้วก็ไม่ยึดถือเป็นของเรา ตัวเราต่อไปอีก
เมื่อทำได้ดังนี้ หรือฝึกฝนที่จะทำเช่นนี้ ก็ขึ้นชื่อว่าได้ให้อย่างผู้มีปัญญา เป็นการให้ที่มีประโยชน์ มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ น่าอนุโมทนาชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
สังฆทาน ถวายตอนไหน
การทำบุญถวายสังฆทาน สามารถทำได้ทุกโอกาส ทุกวัน ทุกช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ควรดูกาลเทศะ ความเหมาะสมด้วย
- หากจะถวายสังฆทานที่มีอาหารสดหรืออาหารแห้ง แนะนำให้ถวายก่อนช่วงฉันเพล เวลา 11.00 น. เนื่องจากพระสงฆ์จะฉันเพลในเวลานี้ หากถวายหลังเวลา 11.00 น. พระสงฆ์อาจจะฉันเพลเสร็จแล้ว
- ในกรณีที่จะถวายสังฆทานในช่วงเย็น ให้ถวายก่อน 18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาทำวัตรเย็น
สรุป
สังฆทาน คือการให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่คณะสงฆ์ ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะส่งผลบุญให้แก่ผู้ถวายอย่างเต็มเปี่ยม นอกจากจะมีคุณค่าทำให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส มีความอิ่มเอมใจแล้ว หมู่ภิกษุสงฆ์ยังได้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราทำทานให้ท่าน ยิ่งของที่เราให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก บุญก็จะเกิดมากตามไปด้วย ดังนั้นการใส่ใจจัดหาสิ่งของมาทำเป็นชุดสังฆทาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยไม่ควรเน้นปริมาณ แต่เน้นไปที่คุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อพระสงฆ์อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการทำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป
อ่านบทความอื่นๆ ของทาง โชคดี สังฆภัณฑ์ อ่านบทความเพิ่มเติม
ช่องทางการติดต่ออื่นๆ
แอด Line : @chokdees
Shopee : Chokdees
Lazada : Chokdees
IG: chokdee_sanghaphan