แสดงทั้งหมด 2 ผลลัพท์
บาตรพระราคาอยู่ที่ 490-1700 ขึ้นอยู่กับวัสดุ ขนาด และวิธีการทำ ซึ่งในบทความนี้จะมาบอกถึงอานิสงส์ของการถวายบาตรพระ และการเลือกซื้อบาตรพระสำหรับการถวายแด่พระภิกษุสงฆ์
บาตรพระ อานิสงส์ มีอะไรบ้าง
ผู้ที่ถวายบาตรแด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐแล้ว จะได้รับอานิสงส์ผลบุญถึง 10 ประการ ดังต่อไปนี้
- มีโอกาสบริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงิน และภาชนะที่ทำด้วยทับทิมในกาลทั้งปวง
- เป็นผู้ไร้ซึ่งอันตรายจากสัตว์ มนุษย์ เป็นต้น
- เป็นผู้ไม่มีเสนียดจัญไร
- เป็นที่ยำเกรงของชนทั้งหลาย
- เป็นผู้ไม่ขาดแคลนข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน
- มีโภคสมบัติบริบูรณ์ ไม่พินาศด้วยภัยธรรมชาติหรือโจร
- เป็นผู้มีจิตที่มั่นคง
- เป็นผู้ใคร่ธรรมทุกเมื่อ
- เป็นผู้มีกิเลสน้อย ไร้เรื่องหมองเศร้าจิตใต
- เป็นผู้ไม่มีอาสวะ (ไม่มีกิเลส สิ่งที่ทำให้จิตใจหมองมัวหรือรับคุณธรรมได้ยาก)
บาตรพระมีกี่แบบ
สำหรับรูปทรงของบาตรพระที่นิยมใช้ในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 5 ทรงด้วยกัน ตั้งชื่อรูปทรงแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาตร กล่าวคือ
- ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร
- ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้
- ทรงมะนาว รูปร่างมน ๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น
- ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า
5.ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้
สำหรับทรงไทยเดิมและทรงตะโกนั้นจัดว่าเป็นทรงโบราณที่มีมานับร้อยปีแล้ว ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจัน มีอายุประมาณ 80-90 ปี ส่วนทรงหัวเสือเป็นรุ่นหลังสุด มีมาประมาณ 30 ปี เป็นทรงที่พระสายธรรมยุตนิยมใช้ ส่วนทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่ทรงตะโก
ควรถวายบาตรพระในโอกาสใด
การถวายบาตรพระ พุทธศาสนิกชนสามารถทำได้หลายโอกาสในเวลาที่เหมาะสม เช่น
- ในเวลาที่วัดมีกิจกรรมอุปสมบทพระหรือสามเณร
- ในเวลาที่มีญาติมิตร คนที่เคารพนับถือ บวชเป็นพระหรือสามเณร
- ถวายเป็นบริวารกฐินหรือผ้าป่า
- เมื่อพบเห็นพระที่ใช้บาตรทะลุ แตก ร้าว หรือบิ่น หรือท่านมีบาตรเสียหายแล้วบอกกล่าวให้เราได้ทราบ
ข้อแนะนำ บาตรพระ ตามพระวินัยที่เหมาะแก่การถวาย
ในสมัยพุทธกาล บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ “บาตรดินเผา” และ “บาตรเหล็กรมดำ” มีขนาดตั้งแต่ 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากวัสดุ 11 ชนิด ได้แก่ ทอง เงิน แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก สัมฤทธิ์ แก้วหุง ดีบุกสังกะสี ทองแดง และไม้ เหตุผลเพราะเป็นวัสดุที่มีค่า มีราคา ถือเป็นการก่อกิเลส ซ้ำร้ายยังอันตรายต่อสวัสดิภาพหากมีโจรขโมยมาปล้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป วัดหลาย ๆ แห่งจึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย ส่วนฝาบาตรนั้นดั้งเดิมจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิทางภาคอีสานบางรูปก็ยังคงใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ ซึ่งหากใครที่ต้องการถวายบาตรพระบวชใหม่ ควรพิจารณาบาตรพระที่มีลักษณะ ดังนี้
- มีขนาด 6-9 นิ้ว อยู่ในเกณฑ์ตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ โดยไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป เพราะอาจทำให้เกิดกิเลสได้
- ทำจากวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย มีน้ำหนักเบา เช่น สแตนเลส หรือเทฟล่อนเคลือบ เพื่อความปลอดภัยในการใส่อาหารร้อนและฉันอาหารในบาตร
- เลือกสินค้าที่มีคุณภาพดี คงทน เพราะนอกจากจะถวายพระบวชใหม่แล้ว เมื่อสึกก็ยังสามารถถวายวัด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีกด้วย
- ควรถวายบาตรให้ครบชุด ได้แก่ บาตร ถลกบาตร (ที่หุ้มบาตร) ขาบาตรหรือเชิงบาตร หากมีถุงตะเคียว ผ้าเช็ดบาตร หรือเครื่องอัฐบริขารอื่น ๆ ด้วยก็จะยิ่งดี
- บาตรพระ ราคาตั้งแต่ 300-1,700 บาท โดยประมาณ ขึ้นอยู่กับวัสดุ ขนาด และวิธีการทำ
คำถวายบาตรพระ
“เอเต มะยัง ภันเต ปัตเต สะปะริวาเร ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ เอเต ปัตเต สะปะริวาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ”
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายบาตร พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับบาตร พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ
บาตรพระในปัจจุบันมีหลายหลายแบบ ทั้งวัสดุและรูปทรงที่ต่างกัน หลายคนอาจสงสัยและเลือกกันไม่ถูก แต่หากรู้ที่มาที่ไป ความสำคัญของบาตร และคำแนะนำข้างต้นแล้ว ก็จะทำให้การถวายบาตรพระบวชใหม่เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น รู้ไว้ได้ประโยชน์ แถมได้บุญแบบเต็ม ๆ