กรวดน้ำ พิธีที่อยู่คู่กับชาวพุทธมาช้านาน มาดูวิธีกรวดน้ำอย่างถูกต้อง นอกจากจะเป็นการแผ่ส่วนกุศลแล้ว ยังช่วยลดกรรม เสริมบุญบารมี ชีวิตดี เจริญก้าวหน้าอีกด้วย
เมื่อเราเข้าวัดไปทำพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน สิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้หลังจากทำบุญเสร็จนั่นก็คือการกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว และรู้ไหมว่าการกรวดน้ำเป็นอีกพิธีกรรมที่อยู่คู่กับชาวพุทธมาตั้งแต่สมับพุทธกาลเลยทีเดียว แต่ใครที่เป็นสายบุญมือใหม่ ก็อาจจะยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องวิธีกรวดน้ำสักเท่าไร พร้อมคำถามที่ชวนสงสัยว่าการกรวดน้ำสำคัญอย่างไร ควรทำตอนไหน กรวดน้ำ บทสวดควรพูดว่าอะไรบ้าง วันนี้เรามีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวิธีกรวดน้ำที่ถูกต้อง ทำแล้วได้ผลดีแก่ชีวิตมาฝากทุก ๆ คนกันแล้ว
กรวดน้ำ คืออะไร
กรวดน้ำ คือการที่เราตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติ คนรู้จักที่ล่วงลับไปแล้ว สรรพสัตว์ทั้งหลาย เทวดาประจำกาย ตลอดจนเหล่าเจ้ากรรมนายเวร และวิญญาณที่ไม่มีญาติ ด้วยการใช้น้ำเป็นตัวสื่อ มักจะทำหลังจากการสวดมนต์หรือทำบุญ
ทำไมต้องกรวดน้ำ
การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้กระทำให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ จะเป็นผลอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ตายไปแล้วนั้นได้รับส่วนบุญที่อุทิศให้ และนำไปสู่การพ้นทุกข์ทั้งมวลได้ นอกจากนั้นยังสามารถกรวดน้ำให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ ทั้งผู้มีพระคุณ คนที่รัก และการกรวดน้ำให้ศัตรู เพื่อเป็นการแผ่บุญกุศลให้ศัตรูกลับกลายเป็นมิตร ดลจิตใจให้กลับมาดีต่อกัน ไม่คิดทำร้ายกันอีก
ประวัติการกรวดน้ำ
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงเคยแนะนำพระเจ้าพิมพิสารให้อุทิศส่วนบุญหลังจากการถวายทาน เรื่องมีอยู่ว่า คราวหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเวฬุวนอุทยานแก่พระพุทธองค์ เพื่อเป็นพระอาราม คืนนั้นเองได้เกิดเสียงประหลาดน่าสะพรึงกลัวแก่พระเจ้าพิมพิสาร รุ่งเช้าพระองค์จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อเล่าเรื่องนี้
พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า นั่นเป็นเสียงของญาติในอดีตของพระองค์ที่บังเกิดเป็นเปรต เปรตเหล่านี้พากันมาร้องขอส่วนบุญ เพราะเมื่อวานนี้พระองค์บริจาคทานแล้ว แต่ไม่ได้อุทิศส่วนบุญไปให้
วันรุ่งขึ้นพระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปรับทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถวายภัตตาหารและไตรจีวรเสร็จ พระเจ้าพิมพิสารก็อุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติทั้งหลาย โดยมีการหลั่งทักษิโณทกหรือกรวดน้ำไปพร้อมกัน ทันใดนั้นอานิสงส์แห่งบุญก็เกิดแก่เปรตทั้งหลาย ทำให้ได้รับทั้งอาหารทิพย์ ผ้าทิพย์ ร่างกายอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการกรวดน้ำหลังจากการให้ทาน และกลายเป็นประเพณีของชาวพุทธสืบมาจนทุกวันนี้
วิธีกรวดน้ำให้ได้ผลบุญเต็มที่
รู้ที่มาของการกรวดน้ำไปแล้ว ทีนี้มาดูวิธีกรวดน้ำกันดีกว่า จริง ๆ แล้วการกรวดน้ำมี 2 วิธี คือ
- กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
- กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้
วิธีการกรวดน้ำที่ถูกต้อง
ขั้นตอนแรกให้เตรียมน้ำสะอาด 1 ขวด หรือ 1 ขัน หรือใส่คนโทไว้ และนำจรดระหว่างคิ้ว ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อเตรียมการกรวดน้ำ พร้อมกล่าวคำอุทิศให้ด้วยบทกรวดน้ำ ดังต่อไปนี้
บทกรวดน้ำแบบสมบูรณ์ หรือ บทกรวดน้ำอิมินา
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
อาจะริยูปะการา จะ มาตา ปิตา จะ ญาตะกา
ปิยา มะมัง สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
พรัหมมะ มาราจะ อินทา จะ ทุโลกะปาลา จะ เทวะตา
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตัง
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุ ปาทานะเฉทะนัง
เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโข วิริยัมหินา
มารา ละภันตุ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
พุทธาทิปะ วะโร นาโถ ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
เตโสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุมา
ปัญจะมาเร ชิเร นาโถ ปัตจะสัมโพธิ มุตตะมัง
จะตุสัจจัง ปะกาเสสิ มหาเวรัง
สัพพะพุทเธ นะมามิหัง
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ
สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
บทกรวดน้ำแบบสั้น หรือบทกรวดน้ำ หลังใส่บาตร
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข สุขใจเถิดฯ
บทกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศล
อิทัง เม มาตาปิตุนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
อิทัง เม ครุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ครุปัชฌายาจะริยา
อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ
บทกรวดน้ำให้เทวดาประจำตัว
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ(3 จบ)
นะ โม พุท ธา ยะ
ลูกขอเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์โปรดเสด็จมาเป็นประธาน
อิทัง สัพพะเทวานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่รักษาตัวข้าพเจ้า
ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข (ให้เริ่มเทน้ำลงบนพื้นดิน)
ลูกขอฝากน้ำอุทิศนี้ไปกับ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา โปรดมาเป็นทิพย์พยาน ขออานิสงค์ผลบุญกุศลอันใดที่ข้าพเจ้า ชื่อ……………สกุล……………. ได้กระทำในวันนี้ ทั้งหมด ทั้งปวง ข้าพเจ้าขออุทิศให้กับเทวดาทั้งหลายทั้ง ปวงของข้าพเจ้า อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ที่ทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากความทุกข์……………………… (เรื่องที่ประสบปัญหา) ไม่ว่าท่านจะมาจาก ชาติใด ภพใด ก็ตาม ทั้งระลึกได้ก็ดีและระลึกไม่ได้ก็ดี ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภพภูมิใด ขอให้ท่านจงมารับกุศล ที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ในครั้งนี้ โดยมาให้ถึงจุดหมาย อย่าแวะ อย่าเวียนที่ใด ให้กุศลถึงทั่ว ทุกท่าน ทุกตัว ทุกตน ทุกภพ ทุกภูมิ ขออานิสงค์ผลบุญดังกล่าวนี้โปรดกลายเป็นโภคทรัพย์ ตามที่ท่านปราถนาทุกประการตั้งแต่บัดนี้ เวลานี้เป็นต้นไปด้วยเทอญ
หลังจากที่เรากรวดน้ำแบบเปียกเสร็จแล้ว ให้เรานำน้ำที่เราเทใส่ที่รอง ออกไปรดน้ำที่โคนต้นไม้ใหญ่ที่มีรากลงดินจะดีที่สุด แต่หากบริเวณนั้นไม่มีต้นไม้ใหญ่ แนะนำว่าให้เทลงบริเวณพื้นดินโล่ง ๆ ที่สะดวกที่สุดก็ได้
กรวดน้ำเวลาไหนดีสุด
เราสามารถกรวดน้ำได้ในทันทีหลังทำบุญเสร็จ ในขณะที่พระกว่าวอนุโมทนา โดยเริ่มรินน้ำและนึกถึงผู้ที่เราต้องการอุทิศส่วนบุญให้ตอนที่พระเริ่มสวดว่า “ยะถา…” ควรรินไม่ให้น้ำขาดสาย จนถึงบทที่ว่า “มะณิโชติระโส ยะถา” เมื่อพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า “สัพพีติโย…” ให้พนมมือรับพรจนจบ จำง่าย ๆ ว่า “ยะถา สวดให้ผี – สัพพี สวดให้คน”
ถ้าไม่สะดวก ก็อาจจะกลับไปกรวดน้ำที่บ้านก็ได้ แต่แนะนำว่าทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผลคือ ถ้ามีวิญญาณ เปรต ญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรอรับส่วนบุญก็อด ส่วนตัวเราเองที่ตั้งใจจะให้ก็พลาดโอกาสไปด้วย
ข้อคำนึงในการกรวดน้ำ
- การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คืออุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้ที่ทำบุญร่วมกันมา ขณะที่อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวม ๆ กันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ส่วนที่เหลือก็อุทิศรวม ๆ ได้
- น้ำสำหรับกรวด ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในภาชนะที่สะอาด และไปเทในบริเวณที่สะอาด ที่สำคัญอย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก
- อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรองไว้ ควรรินให้ไหลเป็นสาย ไม่ขาดระยะ
- การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ
การกรวดน้ำแผ่บุญกุศลให้กับบุคคลที่ล่วงลับ สรรพสิ่งรอบข้าง ดวงวิญญาณ และสัตว์ทั้งหลาย สามารถกระทำได้ตลอดทั้งวัน ทุกวัน ไม่เฉพาะการทำบุญในวัดเท่านั้น เพราะเป็นกุศลแห่งการกระทำความดีที่สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่มีขอบเขต ผู้ใดทำมากย่อมได้ผลลัพธ์มาก ส่งผลให้ชีวิตราบรื่นปราศจากอุปสรรคขัดขวางนั่นเอง รู้อย่างนี้ต้องกราดน้ำบ่อย ๆ แล้วล่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : culture.go.th, dhammajak.net, kaentong.com, mokkalana.com, pangpond.com, nanitalk.com
http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4846&filename=i
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=44532
http://www.kaentong.com/index.php?topic=1513.0
https://www.mokkalana.com/5730/
https://www.nanitalk.com/how-to-general/19171