แต่ละคนต่างก็จะมี พระประจำวันเกิดของแต่ละคน วันนี้เราเลยจะพาทุกท่าน มารู้จักที่มาและลักษณะของ พระประจำวันเกิด ไปเริ่มกันเลย
วันอาทิตย์ (ปางถวายเนตร)
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ร่มโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นจึงเสด็จออกไปจากภายใต้ร่มโพธิ์ ไปประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทอดพระเนตรพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา ๗ วัน เพื่อรำลึกถึงคุณประโยชน์ของต้นมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านประทานร่มเงา จึงนับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นนิมิตมหามงคลจนได้รับการขนานนามว่า “อนิมิสเจดีย์” ที่ซึ่งให้ความชุ่มเย็น เป็นการอำนวยช่วยพระองค์จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ลักษณะของ พระประจำวันเกิด วันอาทิตย์ เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองมองเพ่งไปข้างหน้า ส่วนพระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย
วันจันทร์ (ปางห้ามญาติ)
ครั้งหนึ่ง ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองไพศาลี มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก กษัตริย์ลิจฉวี เจ้าผู้ครองเมือง จึงได้กราบบังคมทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ให้เสด็จมาโปรดชาวเมือง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ เจริญรัตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระนคร จนต่อมาภายหลัง โรคร้ายก็หายสิ้นจากพระนครด้วยพุทธานุภาพ
จะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม แตกต่างจากพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรตรงที่ยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้งสองข้าง
วันอังคาร (ปางไสยาสน์)
สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นอสุรินทราหูจอมอสูร ซึ่งสำคัญว่ามีร่างโตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าจึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิจองอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าจอมอสูร จอมอสูรจึงละทิฐิยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์
จะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างทับซ้อนเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับอยู่
วันพุธ (ปางอุ้มบาตร)
ครั้งหนึ่ง หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมเวสสันดรชาดก โปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติทั้งหลาย บรรดาพระประยูรญาติต่างมีความแช่มชื่นโสมนัส จนลืมกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ให้มารับภัตตาหารเช้าในพระพราชวัง ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเสด็จออกรับบิณฑบาต จากประชาชนทั่วไปในกรุงกบิลพัสดุ์
พระประจำวันเกิด วันพุธ กลางวัน
จะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตรราวสะเอว สันพระบาตรวางชิดกัน
พระประจำวันเกิด วันพุธ กลางคืน
จะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายขึ้น โดยมีช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำอยู่ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
วันพฤหัสบดี (ปางสมาธิ)
ภายหลังจากที่พระมหาบุรุษ ได้กำราบพรยามารลงได้แล้ว พระองค์จึงได้ตั้งพระทัยเจริญสมาธิ จนได้ญาณขั้นต่างๆ และในที่สุดก็ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาเช้าตรู่ของวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา)
ลักษณะจะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย และพระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
วันศุกร์ (ปางรำพึง)
ภายหลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร (อชปาลนโครธ) ก็ได้ทรงรำพึงถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นว่า เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ่งยากแก่การเข้าใจ จึงทรงรู้สึกอ่อนพระทัยในการที่จะนำออกแสดงโปรดสัตว์ แต่เพราะพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าสรรพสัตว์มีภูมิต่างกัน จึงทรงพระดำริที่จะแสดงธรรม ตามภูมิชั้นแห่งปัญญาสรรพสัตว์นั้นๆ
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางประสานกันที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย
พระประจำวันเกิด วันสุดท้ายคือ วันเสาร์ (ปางนาคปรก)
ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก (มุจจลินท์) บังเอิญในช่วงนั้นมีฝนตกพรำๆ ตลอด ๗ วัน พระยานาคมุจลินท์ได้เลื้อยมาทำขนดล้อม พระวรกายของพระพุทธองค์ ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานปกไว้ในเบื้องบนเหมือนกั้นฉัตร ด้วยประสงค์จะกำบังลมฝนมิให้ต้องพระวรกาย
มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางสมาธิ แต่ว่ามีพญานาคราชขดร่างเป็นวงกลมซ้อนทับกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
อ่านบทความอื่นๆ ของทาง โชคดี สังฆภัณฑ์ อ่านบทความเพิ่มเติม
ช่องทางการติดต่ออื่นๆ
แอด Line : @chokdees
Shopee : Chokdees
Lazada : Chokdees
IG: chokdee_sanghaphan